บทความนี้ เป็นคำบรรยาย ของ
พระยาบริรักษ์เวชชการ
ในคราวเปิดการศึกษาวิชา โหราศาสตร์ ของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย
เมื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2497
ครั้งแรกลงพิมพ์อยู่ในวารสาร พยากรณ์สาร
ปีที่9 เล่ม 1 ประจำเดือน เมษายน 2498
โหราศาสตร์เป็นวิชา ที่ว่าด้วย การทำนายและการพยากรณ์ โชคชะตา ของมนุษย์ และปรากฏการต่างๆของโลก โดย อาศัย ตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ เป็นเครื่องชี้ คำว่า โหราศาสตร์ เป็นศัพท์ สันสกฤต แปลว่า วิชาว่าด้วย เวลา และ คำ โหราศาสตร์ นี้ ตามตำรา พฤหัสชาตกา ของ วราหมิหิระ กล่าวว่า เป็นคำที่มาจาก คำผสมสองคำ คือ อโห และ ราตรี ซึ่งแปลว่า วันและคืน แต่ได้ตัดอักษรพยางค์แรกและพยางค์หลังออกเสีย จึง เหลือเพียงคำว่าโหรา
มีอีกคำหนึ่ง ที่มักใช้เรียกกัน แทนคำว่า โหราศาสตร์ คำนั้นคือคำว่า โชยติษศาสตร์ ซึ่งแปลว่า วิชาว่าด้วยความสว่าง
ในภาษาอังกฤษเรียกวิชานี้ว่า แอสตรอลโลยี (ASTROLOGY) แปลว่า วิชา ว่าด้วยดาว
จากการแปลความหมายของวิชา โหราศาสตร์ดังกล่าวมานี้ จึงควรเป็นที่เข้าใจโดยชัดเจนว่า วิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาพยากรณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัย เวลาและตำแหน่งของดวงดาวในท้องฟ้า เป็นสำคัญ มิได้ หมายถึงการพยากรณ์ ด้วยวิธีอื่น เช่น การดูลายมือ การดูไพ่ หรือ การดูด้วยวิธีนับเลข เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง โหราศาสตร์เป็นวิชาที่ต่างกับวิทยาศาสตร์ธรรมดาอยู่บ้าง โดยที่วิทยาศาสตร์ธรรมดาที่เราได้ศึกษากันมา เช่น คณิตศาสตร์ก็ดี วิชาเคมีก็ดี หรือวิชาชีววิทยาก็ดี เหล่านี้ เป็นวิชาที่มีกฎเกณฑ์ และ โดยอาศัยเหตุผลประกอบนำมาทดลอง และพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้โดยไม่ยากนัก
ส่วนโหราศาสตร์นั้น เป็นวิชาที่ค่อนข้างลึกลับ และ ยากแก่การพิสูจน์ และทดลอง โดยวิธี เช่นเดียวกันกับ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนมาก จึงยังไม่รับรอง โหราศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตร์อื่นๆ
อย่างไรก็ดี โหราศาสตร์ก็เป็นวิชาเก่าแก่ที่สุดวิชาหนึ่ง ซึ่งได้ศึกษากันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้
และยังเป็นวิชาที่อยู่ในความสนใจของชนชาติต่างๆ ทั่วโลกอยู่ไม่น้อย
ได้กล่าวแล้วว่า การพยากรณ์ ทาง โหราศาสตร์ นั้น ต้องอาศัยตำแหน่ง ดวงดาวเป็นสำคัญ ดังนั้น นักศึกษาโหราศาสตร์ จึงต้องอาศัย
วิชาดาราศาสตร์ เป็นมูลฐาน ในการผูกดวงชาตา และการคำนวณต่างๆ
ความจริงแต่โบราณ นั้น วิชาดาราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ เป็นวิชาเดียวกัน เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า “แอสโตรแมนซี” (Astromancy)
และนักโหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณ
ก็เป็น นักดาราศาสตร์ด้วยเป็นส่วนมาก ผู้ที่แยกวิชาดาราศาสตร์และ
โหราศาสตร์ ออกเป็นคนละวิขา นั้น ปรากฏว่า อิสิดอร์ (Isidore) ชาวโรมัน เป็นคนแรก
ผู้หนึ่ง ในกาแยกออก เมื่อ ค.ศ. 600 เศษ (พ.ศ. 1143) แต่อย่างไรก็ดี
วิชาทั้งสองนี้ยังมิได้แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อ โคเปอร์นิคุส (Copernicus) ได้แสดงให้เห็นว่า โลกที่เราอยู่นี้
ก็เป็นดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่งเหมือนกัน
การศึกษา และความเชื่อในวิชาโหราศาสตร์
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาดาราศาสตร์ในสมัยโบราณนั้น ปรากฏว่าได้เจริญรุ่งเรือง
อยู่ในชนชาติแบบิโลเนียนมาแต่โบราณ ประมาณ 5000 ปีมาแล้ว (ราว 3200 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และจากแบบิโลเนีย
ได้แพร่หลายไปยังประเทศอื่น ตามประวัติศาสตร์ ปรากฏว่าวิชานี้ได้ไปสู่ประเทศกรีซในราวกลางศตวรรษที่
4 ก่อนคริสต์ศักราช และไปสู่กรุงโรมในราวก่อนศตวรรษแห่งคริสต์ศักราช ในประเทศอินเดียและจีนปรากฏว่าได้รับวิชานี้จากประเทศกรีซเป็นส่วนใหญ่
และประเทศอียิปต์ก็ทำนองเดียวกัน ในราวคริสต์ศตวรรษที่
7-13
วิชานี้ได้แพร่หลายในประเทศอาหรับ
และในศตวรรษที่ 14-15 ได้แพร่หลายทั่วไปในยุโรป
เท่าที่กล่าวมานี้
กล่าวตามที่ปรากฏในหนังสือเอนไซโคลปิเดียบริแตนนิกา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๓
โดยเฉพาะในประเทศอินเดียนั้น ปรากฏตามหนังสือโหราศาสตร์ฮินดูว่า
วิชาโหราศาสตร์ได้มีมาในอินเดียเป็นเวลานานตั้ง ๔๐๐๐-๕๐๐๐ ปีมาแล้ว และอ้างว่าประเทศอื่นได้รับวิชานี้ไปจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง
ชาวอินเดียใช้วิชาโหราศาสตร์ของตนเองมาตั้งแต่เดิมโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะเป็นที่รับรองกัน ทั่วไปในบรรดานักศึกษาทางประวัติโหราศาสตร์ว่า
ชาวแบบิโลเนียน เป็นต้นกำเนิดของวิชาโหราศาสตร์ยิ่งกว่าผู้อื่น
สำหรับในประเทศไทยเรานั้น จะได้ใช้วิชาโหราศาสตร์มานานเท่าใดไม่ปรากฏ เท่าที่พบในหนังสือประวัติศาสตร์และพงศาวดาร ปรากฏว่า
การผูกดวงตามหลักโหราศาสตร์ ในประเทศไทย ได้มีมาแต่
จุลศักราช 400 เศษ หรือราวพุทธศักราช 1600
หรือประมาณ ๙๐๐ ปี มาแล้วเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ เพราะปรากฏตามหนังสือพงศาวดาร โยนกได้แสดง ดวงชะตา ของขุนเจื๋อง ซึ่งเป็นกษัตริย์ ผู้ครอง นครไชยบุรี
เชียงแสนไว้ และ บอก วันเกิดของขุนเจื๋อง ไว้ ว่า เกิดวันอังคาร เดือนห้า
ขึ้น หนึ่งค่ำ ปีเถาะ ฉศก จุลศักราช 436 เวลาใกล้รุ่ง
ส่วนวิชาโหราศาสตร์ไทย จะได้มาจากไหนนั้น เห็นจะไม่มีปัญหา ว่า แหล่ง เดิม คงได้มาจาก
อินเดีย
เพราะหลักเกณฑ์ต่างๆในการคำนวณดาวพระเคราะห์ก็ดี หลักการพยากรณ์ที่สำคัญก็ดี ตลอดจนชื่อจักรราศี ชื่อดาวพระเคราะห์ ดาวฤกษ์
และ ศัพท์ต่างๆที่เราใช้กันอยู่
แสดงว่าต้นเดิมมาจากอินเดียเกือบทั้งสิ้น
แต่มีบางอย่างที่แสดงว่าเรา ไม่ได้รับวิชานี้มาจากอินเดียโดยตรง
หากรับช่วงจากพม่าและมอญอีกต่อหนึ่ง
ดังจะเห็นได้ในการคำนวณปฎิทิน
โหราศาสตร์เราใช้จุลศักราชเป็นเกณฑ์คำนวณ เป็นต้น
ซึ่งจุลศักราชนี้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า
เป็นศักราชที่ใช้อยู่ในประเทศพม่า
โดยพระเจ้าอนุรุทธ พระเจ้าแผ่นดินพม่า เป็นผู้ตั้งขึ้น
เมื่อพุทธศักราชล่วงแล้วได้ 1181 ปี
(บางแห่งก็ว่าสังฆราชบุรพโสรหัน ซึ่งสึกออกมาชิงราชสมบัติพม่าเป็นผู้ตั้ง) นอกจากนี้ คัมภีร์สารัมภ์ หรือ การคำนวณ
สุริยุปราคา และจันทรุปราคา
ก็ปรากฏได้มาจากมอญ
และคัมภีร์จักรทีปนีโบราณซึ่งมีภาษาบาลีที่กล่าวไว้ด้วยก็เป็นภาษาบาลีใช้สำเนียงอย่างที่พระมอญใช้สวดมนต์
ในคัมภีร์ทักษาพยากรณ์ก็มีคำบางคำที่ใช้ภาษามอญ เช่น “วันเม็ง” เป็นต้น อนึ่ง พม่า มอญ ไทย ก็มีอาณาเขตติดต่อกัน
ประชาชนพลเมืองก็มีความสัมพันธ์ กันมาช้านาน จึงไม่มีเหตุอะไรที่ควรสงสัย
ว่าเราจะไม่ได้รับวิชาโหราศาสตร์มาด้วย
อ่านต่อ ประโยชน์ของการศึกษาวิชาโหราศาสตร์